วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning log 4 นอกห้องเรียน

Learning log 4
นอกห้องเรียน
            การอ่าน เป็นทักษะที่ทำให้เราได้รับความรู้และความเข้าใจเรื่องราวของสาระที่ได้อ่าน สามารถตีความหรือแปลความหมายของข้อความที่ได้อ่าน และยังทำให้เราได้ประเมินและพัฒนาศักยภาพในการอ่านได้ อีกทั้งยังสามารถใช้การอ่านให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ดิฉันจึงเลือกที่จะพัฒนาทักษะการอ่าน เพื่อที่จะได้พัฒนาความรู้ที่ดิฉันไม่เคยรู้มาก่อน และยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับวิชาการแปลได้ เพราะการแปลเป็นอีกหนึ่งวิชาที่สำคัญ ที่ดิฉันไม่เคยเรียนมาก่อน ดิฉันจึงเลือกศึกษาเกี่ยวกับ ความรู้เกี่ยวกับการแปล จากเว็ปไซด์ http://khunpech2501.wordpress.com  เพราะหลังจากที่ดิฉันศึกษาแล้ว ดิฉันหวังว่าความรู้ที่ดิฉันได้ศึกษาในครั้งนี้ ทำให้นำมาประยุกต์ใช้กับวิชาการแปลได้มากที่สุด

            จากการที่ดิฉันได้ศึกษาเกี่ยวกับ ความรู้เกี่ยวกับการแปล สามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้ การแปล คือการถ่ายทอดความหมายจากภาษาต้นฉบับไปเป็นอีกภาษาหนึ่งและให้ความหมายเท่ากัน หรือใกล้เคียงกับภาษาต้นฉบับมากที่สุด และ Mildred L. Larson ได้สรุปเกี่ยวกับการแปลว่า ผู้แปลจะประสบความสำเร็จในงานแปลก็ต่อเมื่อผู้อ่านไม่ทราบเลยว่ากำลังอ่านงานแปล แต่คิดว่ากำลังอ่านข้อเขียนในภาษาของตนเพื่อความรู้และความบันเทิง รูปแบบของการแปล อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ 1. การแปลตามรูปแบบของภาษา เป็นการแปลที่พยายามรักษาความหมายและโครงสร้างของต้นฉบับไว้มากที่สุด มุ่งความถูกต้องและแม่นยำเป็นหลัก แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างและการใช้คำเพื่อให้เป็นไปตามหลักการใช้ภาษาของภาษาต้นฉบับแปล 2. การแปลตามความหมาย เป็นการแปลที่ไม่ได้มุ่งรักษาโครงสร้าง ตามความหมายหรือรูปแบบของต้นฉบับอย่างเคร่งครัด มีการโยกย้ายขยายความหรือตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงรูปคำหรือไวยากรณ์ การแปลลักษณะนี้นิยมใช้กับเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรักษาความถูกต้องของต้นฉบับ เป็นการแปลที่ใช้ในสื่อมวลชนทุกประเภทโดยเฉพาะเพื่อความบันเทิง ผู้แปลอาจจะอ่านจบทีละย่อหน้าทำความเข้าใจกับเนื้อหา วิธีคิด จุดมุ่งหมายของผู้เขียนและสิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เมื่อสรุปเนื้อหาหลักของต้นฉบับแล้วจึงถ่ายทอดออกมาโดยเรียบเรียงใหม่ และการแปลลักษณะนี้เป็นการแปลที่นิยมแพร่หลาย อย่างเช่น การแปลนวนิยาย เรื่องสั้น นิทาน การแปลลักษณะนี้มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการแปลให้มีความแม่นยำและสละสลวยมากที่สุด การแปลแม้จะสละสลวยก็ไม่ถือว่าสมบูรณ์ ถ้าเนื้อหาผิดไปจากเนื้อหาเดิม ส่วนการแปลที่เนื้อหาดีแต่ไม่สละสลวยถือว่าดีกว่า เพราะผู้อ่านสามารถได้รับเนื้อหาจากต้นฉบับได้ตรงตามเนื้อหาเดิม 3. ความสำคัญของการแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่นำมาถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะการถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เพราะแหล่งความรู้สมัยใหม่มักเขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลาง การสื่อสารต่างๆล้วนให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ เช่น Internet ภาพยนตร์ จดหมาย และการทำสัญญาต่างๆ ภาษาอังกฤษจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ใช้เปิดประตูเข้าสู่โลกแห่งความรู้ เช่น การสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวต่างชาติ ดังนั้นการแปลจึงมีความสำคัญตามไปด้วยเพราะจำเป็นต้องถ่ายทอดข้อมูลมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง 4.งานแปลที่ดี อาจจะยึดหลักง่ายๆ 4 ประการดังนี้ 1.มีความชัดเจน 2.ใช้ภาษาได้เหมาะสม 3.ใช้ภาษาเรียบง่าย 4.มีความสมเหตุสมผล 5.กระบวนการ/ขั้นตอนการแปล มีดังนี้ 1.กำหนดวิธีการแปล ให้กำหนดวิธีการแปลที่เหมาะกับเนื้อหานั้นให้มากที่สุด ถ้าวิธีการแปลไม่เหมาะสมกับงาน อาจได้ผลงานไม่ดี 2.ถ่ายทอดเป็นประโยคพื้นฐาน จะทำให้ง่ายต่อการแปลและเข้าใจง่าย 3.เรียบเรียงประโยคใหม่ เพื่อให้ได้ภาษาที่สละสลวยเหมาะสมกับประเภทของงาน 4.ปรับปรุงแก้ไข สำรวจผลงานอีกครั้งเพื่อปรับปรุงแก้ไขดัดแปลงจนกว่าจะพอใจ 6.คุณสมบัติของนักแปลที่ดี มีดังนี้ 1.ผู้แปลต้องเข้าใจนัยและความหมายของผู้เขียนต้นฉบับเป็นอย่างดีว่าผู้เขียนมีจุดประสงค์อย่างไร ต้องการจะให้อะไรกับผู้อ่านเพื่อจะได้ถ่ายทอดจุดประสงค์นั้นๆไปยังผู้อ่านฉบับแปลได้ถูกต้อง 2.ผู้แปลต้องมีความรู้ทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาต้นฉบับแปลอย่างดีเยี่ยม เพื่อจะให้แปลได้อย่างถูกต้อง 3.ผู้แปลควรพยายามเลี่ยงการแปลคำต่อคำอย่างที่สุด 4.ผู้แปลควรใช้รูปแบบของภาษาที่เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และใช้กันทั่วไป 5.ผู้แปลต้องรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำสำนวนที่เหมาะสม ให้ถูกต้องกับความหมายตามต้นฉบับและรักษาบรรยากาศของต้นฉบับได้

            จากการที่ดิฉันได้ฝึกทักษะการอ่านในครั้งนี้ ทำให้ดิฉันได้คิดวิเคราะห์เกี่ยวกับสิ่งที่ได้อ่าน และทำให้รู้ว่าผู้แปลนั้นต้องเข้าใจภาษาทั้งสองเป็นอย่างดี คือทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ต้องมีความรู้และภูมิหลังในเรื่องที่จะแปลพอสมควร และต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาได้เป็นอย่างดีเพื่อที่จะได้ถ่ายทอดความคิดของผู้เขียนต้นฉบับแปลรู้เรื่อง เข้าใจและอ่านได้อย่างอรรถรส ซึ่งสิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับวิชาการแปลอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น